5 วิธีทำความสะอาด ร่องยาแนว

5 วิธีคืนชีพร่องยาแนว สวยสดใส น่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม

“งานบ้าน” ใครว่าไม่เหนื่อย พอลงมือทำจริง ๆ ก็เรียกเหงื่อได้เหมือนกัน การหาเคล็ดลับดี ๆ วิธีผ่อนแรงจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ อย่างการทำความสะอาดพื้นกระเบื้องที่มีคราบดำติดฝังแน่นตามร่องยาแนว ที่ใคร ๆ เห็นแล้วก็ต้องหนักใจ เพราะลำพังใช้แปรงขัดถู ขัดทั้งวันก็ไม่สะอาด เนื้อหานี้ จึงรวบรวมวิธีทำความสะอาดร่องกระเบื้องแบบทำเองได้ไม่ต้องจ้างช่าง เพื่อให้คุณแม่บ้านและคุณพ่อบ้านไม่เหนื่อยจนเกินไป จะได้เหลือเวลาใช้ทำธุระส่วนตัวหรือพักผ่อนร่วมกับครอบครัวในวันหยุดมากขึ้นกว่าเดิม

พื้นปูกระเบื้องสีขาว

บ้านยุคใหม่ ใคร ๆ ก็ปูพื้นและผนังด้วยกระเบื้องเซรามิก เนื่องด้วยเป็นวัสดุที่ทนทาน ดูแลง่ายกว่างานไม้และวัสดุอื่น ๆ กระเบื้องมีเพียงข้อเสียเดียวคือรอยต่อของร่องยาแนว เมื่อใช้งานไปนาน ๆ มักมีฝุ่นผงติดแน่น ยากที่จะทำความสะอาดให้กลับมาใหม่เช่นเดิมได้ วันนี้เรามีวิธีการขจัดสิ่งสกปรกฝังแน่นตามร่องยาแนวที่จะกลายเป็นเรื่องง่าย ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ ไม่เปลืองเงิน ไม่เปลืองแรงกับ 5 วิธีนี้

 

ภาพ : Hometalk.com

1. สูตรเบคกิ้งโซดาและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเบคกิ้งโซดากับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ คืออะไร เบคกิ้งโซดาหรือโซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นส่วนผสมสำหรับทำขนมให้ขึ้นฟู (คนละตัวกับผงฟูนะครับ) จะมีความเป็นด่าง ส่วนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ก็เป็นน้ำยาที่เราใช้ล้างแผลนั่นเอง มีคุณสมบัติช่วยให้บริเวณที่ใช้งานขาวและสะอาด โดยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงต่อผู้ใช้และผิววัสดุยาแนว ซึ่งทำมาจากซีเมนต์ที่มีรูพรุน จึงถูกกัดกร่อนได้จากสารเคมีรุนแรงที่พบในน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือนทั่วไป สองอย่างนี้จึงค่อนข้างปลอดภัยเมื่อนำมาใช้ในบ้าน

วิธีใช้คือ ผสมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ¼ ถ้วยตวง เบคกิ้งโซดา ½ ถ้วยตวง (หรือเพิ่มพลังขจัดความสกปรกด้วยการเติมน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนชา) คนส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วนำไปป้ายตามร่องยาแนว 30 นาที จากนั้นใช้แปรงแข็ง ๆ ขัดจนคราบดำ ๆ หลุดออก ใช้ผ้าสะอาดเช็ดตาม แล้วล้างออกด้วยน้ำอีกครั้ง

2. สูตรน้ำยาล้างห้องน้ำผสมน้ำส้มสายชู

การทำความสะอาดด้วยน้ำส้มสายชู เป็นสูตรคลาสสิคที่หลายบ้านนิยมใช้เป็นน้ำยาพื้นฐานในการทำความสะอาดพื้น เพราะหาง่ายในครัว เป็นกรด acetic acid ที่ไม่มีสารพิษตกค้าง สูตรนี้จะใช้น้ำยาล้างห้องน้ำผสมกับน้ำส้มสายชูอย่างละครึ่ง แล้วใช้แปรงจุ่มขัดตามร่อง ใช้เวลาและแรงเพียงนิดเดียวก็ขัดออกได้หมด น้ำยาล้างตำรับนี้มีกลิ่นฉุนแรง และขจัดคราบค่อนข้างได้ผลดี เพราะน้ำยาล้างห้องน้ำมีส่วนผสมของกรดเกลือ (hydrochloric acid)  น้ำส้มสายชูกลั่นก็มีฤทธิ์เป็นกรดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายคราบคูณ 2 ซึ่งผู้ใช้งานเองก็ต้องระวัง ควรลงมือทำในช่วงที่ไม่มีสัตว์เลี้ยงหรือเด็กอยู่ใกล้ ๆ

3. แต้มร่องยาแนวด้วยสี

ภาพ : Designsponge.com

การเปลี่ยนคราบสีดำบริเวณร่องกระเบื้องให้ดูขาวสะอาดแบบเบสิค ไม่ใช้เทคนิคซับซ้อนก็ขาวได้ทันใจ นั่นคือ การใช้พู่กันจุ่มสีอะคริลิคสำหรับงานวาดรูป แบบ Deco Art ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่กันน้ำได้ ทาเคลือบตามร่องยาแนวให้ทั่ว หากสีเลอะออกไปเปื้อนกระเบื้องก็สามารถใช้ฟองน้ำหรือผ้าชุบน้ำเช็ดได้ เมื่อทาเสร็จแล้วทิ้งไว้ให้สีแห้งสนิทประมาณ 24 ชั่วโมงเป็นอันเสร็จเรียบร้อย กรณีใช้สีอะคริลิคแนะนำเป็นกระเบื้องผนัง หากเป็นกระเบื้องพื้นอาจใช้สีซีเมนต์หรือสีที่ผลิตมาเพื่อเติมร่องยาแนวโดยเฉพาะ จะทนต่อความชื้นและแรงขัดถูได้ดีกว่าสีอะคริลิคทั่วไป

4. ทำความสะอาดด้วยกระดาษทราย 

สำหรับใครที่คิดว่าสูตรที่ให้มา 3 ข้อนี้ ยังไม่ได้ผลขั้นสูงสุดแบบที่อยากจะให้เป็น และพร้อมที่จะเสียสละผิวร่องยาแนว ให้ใช้สูตรขัดด้วยกระดาษทราย รับรองว่าร่องยาแนวจะขาวขึ้นแน่นอน แต่อาจต้องแลกมาด้วยการออกแรงมากกว่าสูตรอื่น ๆ สักหน่อย ซึ่งวิธีการก็ง่าย ๆ คือเลือกซื้อกระดาษทรายความละเอียดมากหน่อยประมาณเบอร์ 180-240 นำมาพับเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือพับพันหวีอันเล็ก ๆ  แล้วนำไปขัดตามร่องยาแนวดำ ๆ จนคราบออกหมดก็เสร็จเรียบร้อย ระวังอย่าเลือกกระดาษทรายเม็ดหยาบไปเพราะอาจจะขูดกระเบื้องเป็นรอยได้

5. ใช้น้ำยาทำความสะอาดร่องยาแนวโดยเฉพาะ

คุณพ่อบ้านแม่บ้านที่ไม่มีวัตถุดิบสำหรับงาน D.I.Y หาในบ้านแล้วไม่มีน้ำส้มสายชู ไม่มีเบคกิ้งโซดา หรือกลัวอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผสมวัตถุดิบเอง แนะนำให้หาซื้อผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดร่องยาแนวโดยเฉพาะ  โดยปกติมีจำหน่ายตามแผนกน้ำยาทำความสะอาด ข้อดีของน้ำยาเหล่านี้ คือ ปลอดภัย ไม่ทำลายผิวหน้ากระเบื้อง กลิ่นไม่ฉุนเท่ากับสูตรต่าง ๆ ที่ผสมเอง ซื้อมาเพียงขวดเดียวสามารถใช้ได้กับงานกระเบื้องทั้งหลัง

จบทั้ง 5 วิธี ที่จะช่วยให้กระเบื้องพื้น และกระเบื้องผนังบ้านของเรา กลับมาดูสดใสมีชีวิตชีวาน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม แต่ละวิธีไม่ยากเลยใช่ไหม ถนัดใช้วิธีไหนประยุกต์ได้ตามความต้องการ แต่หากเลือกใช้วิธีที่ต้องสัมผัสสารเคมี ซึ่งอาจมีฤทธิ์เป็นกรด เป็นด่าง แนะนำให้หาถุงมือยางมาสวมใส่ เพื่อป้องกันมือไม่ให้สัมผัสกับสารเคมีโดยตรง