10 จุดต้องระวัง เมื่อต้องดูแลบ้านหลังน้ำท่วม

บ้านน้ำท่วม กลายเป็นปัญหาสามัญประจำบ้านสำหรับหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทย บางพื้นที่อาจท่วมเพราะพายุที่พัดผ่านเข้ามานาน ๆ ครั้ง แต่หลาย ๆ บ้านก็ท่วมแล้ว ท่วมอีก ท่วมทุก ๆ ปี บ้านที่ท่วมบ่อย ๆ ไม่น่าห่วงเท่ากับบ้านที่ท่วมครั้งแรกครับ เพราะบ้านที่ท่วมบ่อย ๆ ส่วนใหญ่จะมีแผนรับมือและสามารถอยู่ร่วมกับภัยน้ำท่วมได้อย่างเป็นสุขแล้วแต่บ้านที่เพิ่งมีประสบการณ์น้ำท่วมครั้งแรก เมื่อน้ำลดอาจกระทำสิ่งใด ๆ โดยไม่ทันระมัดระวัง เราจึงหยิบยก 10 จุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องเข้าไปตรวจสอบบ้าน เพื่อให้ทุก ๆ บ้าน ได้ดูแลบ้านหลังน้ำท่วมกันอย่างปลอดภัย

ตรวจสอบระบบไฟ

1. ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งรีบใช้ระบบไฟฟ้า

อย่างที่ทราบกันดีว่า น้ำ เป็นสื่อนำไฟฟ้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ การเข้าสำรวจบ้านหลังน้ำท่วม ผู้สำรวจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสวมใส่ชุดที่ปลอดภัย สามารถป้องกันไฟฟ้าดูดได้ และไม่ควรเปิดใช้ระบบไฟฟ้าใด ๆ ก่อนที่จะมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจเช็คและซ่อมแซม สิ่งที่ดีที่สุดคือการตัดระบบไฟฟ้า หากเห็นเบรกเกอร์ไฟฟ้ายังเปิดใช้งานอยู่ ให้ทำการปิดระบบไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมกับติดต่อช่างไฟฟ้าหรือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาตรวจสอบอีกครั้ง

สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำขังอย่าเพิ่งโยนทิ้งนะครับ ส่วนใหญ่แล้วหากระบบไฟฟ้าภายในยังไม่ลัดวงจร เมื่อตากแดดให้แห้งจะสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง หรือหากมีอาการเสีย ชำรุด ก็สามารถซ่อมแซมได้

2. เฟอร์นิเจอร์ไม้แท้ ห้ามนำไปตากแดด

เฟอร์นิเจอร์ไม้แท้ รวมทั้งประตูไม้หรือของใช้ใด ๆ ที่ผลิตด้วยวัสดุไม้แท้ หลังจากสัมผัสกับความชื้นหรือโดนแช่น้ำเป็นเวลานาน ไม้จะมีอาการบวมเนื่องจากไม้ดูดซับความชื้นที่ได้จากน้ำ หลายบ้านแก้ไขด้วยการนำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปตากแดดเพื่อต้องการไล่ความชื้น ผลที่ได้คือ ไม้เหล่านี้เกิดอาการโก่ง บิดงอ วิธีการที่ถูกต้องควรตั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ไว้ในที่ร่ม อาจวางไว้นอกบ้านบริเวณที่มีหลังคาเพื่อผึ่งลมได้ เมื่อไม้แห้งดีแล้วจึงสามารถซ่อมแซม ทำสี หรือทาแลกเกอร์ครับ

เฟอร์นิเจอร์ไม้ น้ำท่วม ดูแลอย่างไร

3. รออีก 1-2 เดือน ถึงจะทาสีใหม่ได้

หลังจากน้ำลดแล้ว สิ่งที่มองเห็นอย่างเด่นชัดคือคราบสกปรกบนผนังบ้าน เจ้าของบ้านหลายท่านทนที่จะมองความหม่นหมองเหล่านี้ไม่ได้ จึงรีบเร่งทาสีบ้านใหม่ ผลที่ได้คือ สีทาติดยากและไม่ทน ผ่านไปไม่กี่เดือนมีอาการหลุดลอกออกจากผนัง นั่นเป็นเพราะผนังบ้านหลังน้ำท่วมจะมีความชื้นสูง ส่วนสีทาบ้านโดยปกติเป็นสีอคริลิก ซึ่งจะไม่ชอบความชื้นเท่าไหร่นัก

ซ่อมสี

สิ่งที่ทำได้คือการล้างทำความสะอาดผนังรอไว้ หากมีสีหลุดลอกให้ทำการขัดออกให้เรียบ เมื่อฝนหยุดตกแดดออกจ้าต่อเนื่องประมาณ 1-2 เดือน ทำการทาสีรองพื้นและเลือกทาสีใหม่ได้ตามต้องการ ผนังที่แห้งสีจะติดทนนานกว่าผนังชื้นมาก

4. ปั๊มน้ำที่ถึกทน อาจพังได้เช่นกัน

ปั๊มน้ำเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทนแแดทนฝนพอสมควร แต่ในสถานการณ์ที่ถูกน้ำท่วมหลาย ๆ วัน ปั๊มที่แช่อยู่ในน้ำก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน ควรตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊มน้ำและถังอัดความดัน เพราะในระหว่างน้ำท่วมขังอาจจะมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสร้างปัญหาให้กับปั๊มแรงดันน้ำ ส่งผลให้ถังอัดความดันทำงานผิดปกติ วิธีการตรวจสอบการทำงานเบื้องต้นง่ายๆ โดยการพิจารณาจากเสียงในขณะที่เครื่องทำงานและดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติก็หาเครื่องมือพื้นฐานมาแกะออกเพื่อเช็คสภาพภายในส่วนหลัก ๆ คือส่วนมอเตอร์ปั้มน้ำให้รื้อออกมาเป็นชิ้น ๆ ล้างด้วยน้ำเปล่าเอาคราบสกปรกติดในขดลวดอามาเจอร์ออกแล้วตากเเดดหรือใช้ดรายเป่าให้เเห้ง ตรวจเช็คว่าทุ่นขดลวดทองเเดงที่อาบน้ำยาไม่มีการเสื่อม ไม่ช็อต ไม่มีไฟรั่ว ตลับลูกปืนเปียกเม็ดลูกปืนเป็นสนิมหรือไม่ เป็นต้น ในปั๊มน้ำที่พบปัญหามาก ๆ หรือเครื่องไม่ทำงาน เช็คแล้วแก้ไขเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรส่งให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็คและซ่อมแซมโดยเร็วก่อนที่สนิมจะเกาะด้านใน

ตรวจสอบแทงค์น้ำ

5. อาจมีอะไรซ่อนอยู่ในถังน้ำ

สิ่งที่ต้องอยู่คู่ปั๊มน้ำเสมอ คือ ถังเก็บน้ำ ปัจจุบันถังเก็บน้ำมีให้เลือกใช้ 2 ประเภท ถังเก็บน้ำบนดินและถังเก็บน้ำใต้ดิน สำหรับถังเก็บน้ำบนดินเจ้าของบ้านสามารถตรวจเช็คได้ไม่ยาก เพียงใช้บันไดปีนขึ้นไปเปิดฝาถัง เพื่อสำรวจสิ่งแปลกปลอมที่อาจเข้ามาภายในถังน้ำได้ หรือแม้แต่บ้านทั่วไปที่ยังไม่เจอสถานการณ์น้ำท่วมก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจเช็คถังน้ำบ่อย ๆ เพราะเมื่อใช้งานไปนาน ๆ ถังที่เคยสะอาดย่อมมีสิ่งสกปรกแปลกปลอมแฝงเข้ามา อาจเป็นสาเหตุให้น้ำไม่สะอาดได้ ส่วนถังน้ำใต้ดิน จะตรวจสอบได้ยากและอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่า เนื่องจากพื้นที่ใต้ดินจะอยู่ใต้น้ำ หากตอนติดตั้งถังน้ำทำได้ไม่ดี สิ่งสกปรกที่มากับน้ำอาจรั่วซึมเข้าสู่ถังน้ำได้ กรณีนี้อาจเรียกช่างที่มีความชำนาญเฉพาะเข้ามาสำรวจ

6. ระวังสัตว์มีพิษ แอบซุกซ่อนในมุมมืด

เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ไม่เพียงแค่คนเท่านั้นที่หนีน้ำ สัตว์ต่าง ๆ ก็หนีน้ำเพื่อเอาตัวรอดเช่นเดียวกัน สิ่งที่ต้องระวังคือสัตว์มีพิษต่าง ๆ ที่ปกติมักซุกซ่อนตัวอยู่ในโพรงหญ้า ป่ารก เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมเป็นเวลานาน สัตว์เหล่านี้จะหาพยายามหาที่สูงเพื่อเอาตัวรอด สถานที่สุดโปรดก็คือบ้านของเรานั่นเอง โดยธรรมชาติของสัตว์มีพิษจะไม่อยู่อาศัยในพื้นที่โล่งแจ้ง แต่จะอาศัยในที่อับ มุมมืด เจ้าของบ้านจึงจำเป็นต้องรื้อจุดรก จุดอับต่าง ๆ ให้หมด เพื่อตรวจสอบได้อย่างแน่ใจว่าจะไม่มีสัตว์ร้ายใดมาแอบแฝง หากเจอสัตว์มีพิษอย่าเพิ่งใจร้อนไปทุบตีนะครับ เพียงแค่หาอุปกรณ์มาช่วยจับและนำไปปล่อยในที่ ๆ ควรจะอยู่ หรือหากเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรง เช่น งู สามารถโทรเรียกเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยท้องถิ่น จส.100

7. ระวังฝ้า ถล่มพัง

สำหรับบ้านที่น้ำท่วมสูงมิดชั้น 1 หรือบ้านที่มีลมกระโชกกระทั่งส่งผลให้หลังคาหลุดปลิว ทำให้ฝ้าเพดานได้รับผลกระทบจากน้ำโดยตรง โดยปกติฝ้าเพดานเป็นวัสดุที่ทำจากแร่ยิปซั่ม ซึ่งมีน้ำหนักมากและสามารถอุ้มน้ำได้ในระดับนึง จุดที่ต้องระมัดระวังคือ ฝ้าที่กำลังอุ้มน้ำอาจหลุดร่วงลงมาได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับเจ้าของบ้านได้ จึงควรตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตาเปล่า หากฝ้ามีการแอ่นตัวหรือมีร่องรอยของคราบน้ำปริมาณมาก ต้องทำการรื้อถอนก่อนซ่อมแซมส่วนอื่น ๆ

8. ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

เมื่อน้ำท่วม ข้าวของต่าง ๆ มักลอยตัวขึ้นได้ รวมทั้งถังแก๊สภายในห้องครัว ซึ่งหากมีการลอยตัวหรือกระแทกกับวัตถุใด ๆ อาจส่งผลให้ถังแก๊สรั่วซึม หากเข้าห้องครัวแล้วได้กลิ่นแก๊ส ให้ทำการตรวจเช็คหรือโทรเรียกร้านแก๊สมาตรวจสอบ กระบวนการตรวจเช็คบ้านหลังน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจเกิดเหตุร้ายที่หนักยิ่งกว่าน้ำท่วมได้

9. ทำใจไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

สำหรับบ้านที่น้ำท่วมไม่สูงมาก หรือสามารถย้ายข้าวของขึ้นชั้นสองได้ จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่สำหรับบางพื้นที่ ที่น้ำท่วมสูงมาก กว่าน้ำจะลดกินระยะเวลานานนับสัปดาห์หรือนานนับเดือน จึงจำเป็นต้องอพยพหาที่อยู่ใหม่ชั่วคราว เมื่อกลับเข้ามาบ้านเพื่อตรวจสอบความเสียหาย เจ้าของบ้านหลายท่านอาจรับไม่ได้กับสิ่งที่พบเจอ สิ่งสำคัญก่อนเข้าตรวจเช็ค คือการทำใจยอมรับในชะตากรรม คิดเสียว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราเพียงแค่หลังเดียว สิ่งของภายนอกยังหาซื้อใหม่ได้ สิ่งสำคัญคือการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ดูแลบ้านให้กลับมาใหม่และน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม

10.เตรียมรับมือครั้งต่อไป 

สำหรับพื้นที่ ที่เคยน้ำท่วมแล้ว มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้านใหม่ จึงควรเลือกวัสดุที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง อาทิ ไม่ควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ไม้อัด MDF เนื่องจากไม้ชนิดดังกล่าวไม่ทนน้ำ เมื่อโดนน้ำขังเป็นเวลานานจะบวมน้ำและเปื่อยยุ่ย ไม่สามารถนำมาใช้ต่อได้ หรืออาจเลือกของใช้ที่มีฟังก์ชัน สามารถยกย้าย เปลี่ยนระดับได้ง่าย อย่างชั้นวางของชนิด DIY ผลิตจากวัสดุโลหะ กันน้ำและปรับระดับความสูงได้

ชั้นวางของเหล็กหนีน้ำ

 

นอกจากข้าวของเครื่องใช้แล้ว หากเป็นไปได้ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมแผนรองรับ เช่น ยกบ้านให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้า อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมสำหรับบางพื้นที่ อาจไม่ได้หนักหรือเกิดขึ้นบ่อย เพียงแค่จัดเตรียมพื้นที่สำหรับขนย้ายข้าวของก็อาจเพียงพอต่อความปลอดภัยในเหตุการณ์น้ำท่วม